ข้าวไทยทำไมกินอยู่ไม่กี่พันธุ์?
คุยกับกฤช เหลือลมัย ว่าด้วยวัฒนธรรมการกินข้าวของคนไทยที่หล่นหาย
คงจะเป็นคำกล่าวไม่เกินจริงไปนักว่า ข้าวคืออาหารประจำชาติ ที่คนไทยทุกคนต้องกินมันอยู่ในทุกๆ วัน หรือโหยหาข้าวสวยร้อนๆ ที่ทานคู่กับกับข้าวทุกครั้งเมื่อต้องอยู่แดนไกล ที่ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือพาสต้า ก็ไม่อาจแทนที่ลิ้นของคนไทยที่คุ้นชินการกินข้าวไปเสียแล้ว
แต่จริงๆ แล้วเราหลงลืมตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราบ้างไหม ถึงปริศนาเรื่องข้าวไทยที่กินอยู่ในทุกวัน ทำไมต้องเป็นข้าวขาว และข้าวหอมมะลิเท่านั้นจึงเป็นข้าวที่ดีในสายตาของคนส่วนใหญ่ และเราเองนั้นรู้จักข้าวเสียสักกี่สายพันธุ์กัน
เราจึงชวนกฤช เหลือลมัย นักโบราณคดี นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารไทย ร่วมกันสำรวจเส้นทางเป็นมาเรื่องข้าวไทย ถึงพัฒนาการทางการเกษตรที่นำมาสู่ความล่มสลายของสายพันธุ์ข้าวกว่า 20,000 สายพันธุ์ และตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมการกินข้าวแบบคราฟต์ๆ (ราวกับไวน์ ชีส หรือเบียร์) ทำไมไม่เกิดขึ้นเสียที
คนไทยเริ่มกินข้าวตั้งแต่สมัยใด
จากการศึกษาของนักโบราณคดี ย้อนกลับไปในยุคสมัยดึกดำบรรพ์ พบว่ามนุษย์ได้รับพลังงานจากพืชตระกูลหัวเป็นหลัก อย่างเผือก มัน กลอย หรือข้าวอย่าง ข้าวฟ่างหางกระรอก ซึ่งเป็นคนละชนิดกับข้าวเจ้าที่เรากินในทุกวันนี้ เพราะข้าวในสมัยนั้นเป็นพืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง ที่มีเมล็ดทั้งเล็ก ลีบ และกลายพันธุ์ได้ง่าย ไม่เหมาะสมกับการนำมากินเป็นอาหารมากนัก
จนกระทั่งข้าวก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ตัวเองขึ้น ผู้คนเริ่มสามารถนำมาเพาะปลูกในไร่ได้ในปริมาณมาก จากหลักฐานในช่วงเวลา 2,000 ปีก่อน พบข้าวกลายเป็นพืชที่ได้รับความนิยมในการเพาะปลูก อย่างประเทศไทย ที่ค้นพบร่องรอยของ ข้าวสาร ข้าวหุง และแกลบข้าวที่เป็นส่วนประกอบในก้อนอิฐจำนวนมาก ตามโบราณสถานต่างๆ ในยุคทราวดี
จาก ‘ข้าวป่า’ มาเป็น ‘ข้าวปลูก’ ได้อย่างไร
นักโบราณคดีเองก็ยังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจน แต่หากคาดการณ์ที่ข้าวป่าพัฒนาเป็นข้าวปลูกคงอยู่ในช่วง 5,000 – 6,000 ปีก่อน จากหลักฐานทางจีนตอนใต้ ที่จะพบว่าลักษณะของเมล็ดและแกลบข้าวเปลี่ยนแปลงไป และมีการแพร่พันธุ์ที่มันมีลักษณะกลายเป็นข้าวปลูกไปแล้ว
จุดเปลี่ยนและพัฒนาการสำคัญในช่วงเวลาใดของการปลูกข้าวในประเทศไทย ที่พลิกจากการปลูกเพื่อยังชีพ เป็นการปลูกเชิงอุตสาหกรรม
เมื่อข้าวมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ แล้วเราก็จำเป็นต้องกินมัน เนื่องจากติดรสชาติมันไปแล้ว กลับไปกินเผือกหรือมันแบบเดิมไม่ได้แล้ว การปลูกข้าวเองก็ต้องอาศัยการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้นไปด้วย
โดยในพงศาวดารสมัยอยุธยา ปรากฎถึงคำสั่งของกษัตริย์และขุนนางให้มีการพัฒนาทางน้ำในการทำเกษตรกรรม อย่าง การขุดคลองรังสิต ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ไปทางตะวันออก เพื่อที่จะได้สนองให้ระบบการปลูกข้าวที่อยู่ในผืนนาขนาดใหญ่
หรือหากดูเหตุการณ์ร่วมสมัยที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินทรายแห้งแล้งขนาดใหญ่ กรมพัฒนาที่ดินก็ได้เข้ามาขุดคลอง แบ่งสันปันส่วนที่ดินบนทุ่งกุลาร้องไห้ และส่งเสริมให้ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ หรือข้าวหอมมะลิ เพราะดันเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง สภาพดินเค็มของพื้นที่ทุ่งกุลาฯได้ดี
ท่ามกลางสายพันธุ์ข้าวไทยมากกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์ แต่ทำไมคนไทยในปัจจุบันกลับรู้จักแต่ ‘หอมมะลิ’
จริงๆ แล้วสังคมไทยในอดีตมีข้าวหอมหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ใช่เพียงแต่ข้าวหอมมะลิเท่านั้น เช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการจัดทำเอกสารแจกแจงพันธุ์ข้าว ที่ระบุถึงชื่อพันธุ์ และลักษณะของการปลูก และจำแนกกลิ่นเฉพาะของข้าวแต่ละพันธุ์
แต่ในช่วงหลังพ.ศ. 2500 ข้าวหอมมะลิได้รับความนิยมขึ้นมาจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ทนต่อความแล้ง และไม่ต้องอาศัยน้ำมากในการปลูก จึงกลายเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของไทย
และด้วยคุณสมบัติของข้าวหอมมะลิ ที่ทั้งมีกลิ่นหอม รสชาติดี ก็สามารถต่อกรกับข้าว ที่คนไทยนิยมกินในอดีต อย่าง ข้าวเสาไห้ หรือข้าวเจ็กเชย ที่เป็นข้าวแข็ง แต่กลิ่นไม่ค่อยหอม รวมถึงการโฆษณาจากภาครัฐ และการทำตลาดในต่างประเทศ ที่ข้าวหอมมะลิไปชนะงานประกวดระดับโลกได้ ก็ยิ่งทำให้ข้าวหอมมะลิครองลิ้นของคนไทยจวบจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามการก้าวขึ้นมาของข้าวหอมมะลิ ย่อมส่งผลให้ข้าวพันธุ์อื่นๆ ถูกละเลยและค่อยๆ หายไปด้วยเช่นกัน
ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ยังพอมีที่ยืนอยู่บ้างไหมท่ามกลางข้าวหอมมะลิไทยที่โดดเด่น
จากประสบการณ์ของผม ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ผมยังพบข้าวพันธุ์พื้นเมืองแปลกๆ อยู่บ้าง เช่น ข้าวนางน้อยแดง ข้าวดอขาว ข้าวบองกาสัก ที่คำบอกเล่าของชาวบ้าน ส่วนใหญ่แล้วมักจะปลูกข้าวเหล่านี้ เพื่อรับประทานกันในครอบครัวเท่านั้น โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่คุ้นชินกับรสชาติข้าวพื้นเมืองในพื้นที่
แต่ในปัจจุบัน เมื่อผมได้ย้อนกลับไปชุมชนที่เคยปลูกข้าวเหล่านั้น กลับไม่พบเห็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านั้นอีกเลย ผู้คนในพื้นที่ต่างปลูกกันแต่ข้าวหอมมะลิมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยเป็นข้าวที่ขายได้ง่าย และรสนิยมของคนพื้นที่เองที่คุ้นชินกับรสชาติของข้าวหอมมะลิมากขึ้น
เพราะเหตุใด ข้าวพื้นเมือง ถึงไม่เป็นที่นิยมในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่มีเสน่ห์และรสชาติเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
ประการแรกคือ ข้าวพื้นเมืองมันเรียกร้องการดูแลที่ไม่ค่อยเหมือนกัน หมายความว่าถ้าจะปลูกให้ได้สัก 2 – 3 พันธุ์ในนาผืนเดียว แต่ละแปลงก็ย่อมต้องอาศัยการดูแลแตกต่างกัน ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการปลูกข้าวแปลงขนาดใหญ่ แตกต่างกับข้าวหอมมะลิ ที่มีหลักการปลูกที่แน่นอน และปุ๋ย ยาที่ออกแบบเพื่อมันโดยเฉพาะ
ประการต่อมาคือ เมื่อผู้คนมีความรู้สึกคุ้นชินในรสชาติของข้าวหอมมะลิ ข้าวในอุดมคติของหลายคนจึงต้องมีสีขาว เนื้อร่วนๆ มีความหอม ตามมันไปด้วย ข้าวที่ดีจึงเป็นเพียงแป้งที่รองรับกับข้าวซึ่งเป็นพระเอกของจาน ในขณะที่ข้าวเป็นเพียงพระรองเท่านั้น ผู้คนก็เลยเฉยชาที่จะไปสรรหาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เพราะไม่ได้มองข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญของจานอาหาร
ประการสุดท้ายคือ ความรู้เกี่ยวกับการกินข้าวที่หลากหลายถูกละเลยไป อย่างตำราอาหาร เราแทบจะไม่เห็นการแนะนำให้กินข้าวที่มันแปลกๆ เน้นเพียงตำราสูตรกับข้าว แต่ตำราเรื่องข้าวถูกหลงลืมไป หรือในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน เรื่องวัตถุดิบหรือข้าวในท้องถิ่น มันแทบไม่ถูกบรรจุเสียด้วยซ้ำไป เด็กที่โตขึ้นมาก็ไม่รู้จักข้าวอื่นๆ เสียนอกจากหอมมะลิอยู่ดี
หากมองดูข้าวบรรจุถุงตามท้องตลาด จะพบว่าข้าวมีให้เลือกเพียงไม่กี่สายพันธุ์ และหลายครั้งก็ไม่ได้ระบุถึงที่มาที่ไปของข้าวนั้นๆ คุณคิดว่าสังคมไทยให้ความสำคัญเรื่องข้าวน้อยไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่ ‘ข้าวคือชีวิตของคนไทย’ เสียด้วยซ้ำ
หลายครั้งประโยคการยกย่องที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อสวยหรู เพื่อจะหลอกตีกินชาวนาส่วนใหญ่ หากจะพูดกันตามจริง สังคมไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องข้าวน้อยมาก ตั้งแต่เด็กในวัยเรียน ที่ไม่โอกาสจะได้ทำความรู้จักข้าวพันธุ์พื้นเมือง หรือวัตถุดิบในท้องถิ่นของตัวเอง
เมื่อรากฐานของผู้คนเป็นเช่นนี้ มันจึงส่งผลให้คนไทยจะเกิดความกลัวต่อการเปิดรับสิ่งใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า มีเพดานลิ้นสูง ไม่กล้าทดลองรสชาติอื่นที่แปลกๆ ที่ไม่คุ้นชิน บ่อยครั้งผมมักจะสังเกตเห็นคำถามประเภท “กินได้แบบนี้กินได้จริง ๆ หรอ” “ปรุงด้วยวิธีแบบนี้ก็ได้หรอ” อยู่เสมอ แทนที่มันจะแบบตื่นเต้นในการคิดค้นทดลองใหม่ๆ ด้วยทัศนคติความกลัวแบบนี้ มันจึงไม่นำไปสู่การกินอะไรที่หลากหลาย
เพราะฉะนั้นพอพูดและย้ำกันมากๆ ว่า หอมมะลิเป็นข้าวที่ดีที่สุดแล้ว ผู้คนก็ไม่อยากไปทดลองหาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ
ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีข้าวรสอร่อย มีความเฉพาะตัวอยู่ก็ได้ แต่สุดท้ายก็ลงเอยกับหอมมะลิอยู่ก็ดีแล้ว กลายเป็นความคิดของตัวเองที่ปิดกั้นความอยากรู้อยากลอง หรือว่าโอกาสที่จะได้กินอะไรอร่อยๆ
ในฐานะที่คุณเป็นคอลัมนิสต์ และพ่อครัว คุณคิดว่าทำไมวัฒนธรรมการกินของไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจับคู่ข้าว-กับข้าว
กับข้าวมันก็คงจะมีสีสันมากกว่าอ่ะเนอะ (หัวเราะ)
ในทัศนะของผมมองว่า วัฒนธรรมการกินข้าวของครัวไทย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเรากินข้าวเพื่อกินข้าวจริงๆ กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้า ก็ต่างหุงเป็นข้าว เพื่อกินคู่กับอาหารคาวต่างๆ เท่านั้น
แต่หากเทียบกับวัฒนธรรมการกินของมุสลิม เปอร์เซีย จีน อินเดีย หรืออาหรับ พวกเขามีวัฒนธรรมการกินข้าวที่ซับซ้อนอย่างมาก อย่างอินเดียหรือมุสลิม การหุงข้าว เช่น ข้าวบริยานี ข้าววอคเคอรี มันมีกรรมวิธีการปรุงข้าวกับเครื่องเทศต่างๆ อย่างพิถีพิถัน ตลอดจนการคัดสรรข้าวที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
เพราะฉะนั้นย้อนกลับมามองครัวไทย ที่ความสำคัญของวัฒนธรรมการกินเน้นไปที่จานกับข้าว ต้ม ผัด แกง ทอดเป็นหลัก ในขณะที่ตัวข้าวเป็นแค่เพียงตัวรองกับเหล่านั้น จึงไม่น่าแปลกที่เราจะกินแต่ข้าวพันธุ์เดิมๆ เพียงไม่กี่ชนิดที่เขาว่ากันว่าดีและคุ้นชินกัน โดยไม่ได้มุ่งหมายว่าจะต้องไปสรรหาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ
คุณคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่สังคมไทยจะเห็นคุณค่าถึง พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ที่มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉกเช่นเดียวกับการให้คุณค่าไวน์และชีสท้องถิ่นในโลกตะวันตก
ชาวฝรั่งเศส พวกเขามีความภูมิใจในวัฒนธรรมไวน์ ชาวเยอรมันก็ภูมิใจในวัฒนธรรมเบียร์ หรือชาวจีนก็ภูมิใจในศาสตร์การต้มเหล้าสุราต่างๆ อันดับแรก ประชาชนในชาติจะต้องสนใจเรื่องข้าวเสียก่อน มันถึงจะนำไปสู่การมีฉันทามติความภาคภูมิใจเกิดขึ้นในชาติ
โดยความรู้สึกภาคภูมิใจในข้าวตัวเอง จะนำพาไปสู่บทสนทนาเรื่องพันธุ์ข้าวที่หลากหลายบนโต๊ะอาหารของผู้คนทั่วไป พูดอย่างให้เห็นภาพคล้ายกับ ชาวฝรั่งเศสที่ดื่มไวน์กันอย่างลุ่มลึก ทุกคนต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ว่าสิ่งที่เขากินมันดียังไง แต่ละปีที่บ่มหมักมันแตกต่างกันอย่างไร มันถึงจะทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
หรือในเชิงของกฎหมาย ข้าวไทยยังเผชิญกับอุปสรรคการแปรรูปข้าว อย่างการหมักเหล้าจากข้าว ที่โดนจำกัดด้วยกฎหมายควบคุมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งๆ ที่จริงมีข้าวไทยอีกจำนวนมาก ที่มีแร่ธาตุเหมาะกับการหมักเป็นเหล้า ทประเทศไทยเราข้าวให้ทำเหล้าได้อีกอย่างสร้างสรรค์อีกไม่รู้เท่าไหร่
ฉะนั้น ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่พูดคุยกันลงลึกไปถึงเนื้อในของข้าวจริงๆ มัวแต่ไปวิตกกังวลกัับประเด็นดราม่า อย่าง การพลาดแชมป์ของข้าวหอมมะลิ หรือข้าวเวียดนามแซงหน้าไทย แต่กลับสนใจไม่ข่าวคราว การค้นพบข้าวพันธุ์ใหม่ๆ หรือเปิดใจกับข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่เป็นวัตถุดิบเลอค่าในท้องถิ่น มันก็ย่อมไม่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนหรือพัฒนาองค์ความรู้เรื่องข้าว
ในท้ายที่สุดเมื่อ เราไม่ได้พยายามที่จะทดลองแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เป็นคนเฉยเมยกับความรู้เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหวัง ที่จะทำให้การกินข้าวขอคนไทยนั้นจะลุ่มลึกเฉกเช่นเดียวกับคนฝรั่งเศส คนเยอรมัน
หรือวงการข้าวไทยจะถึงทางตัน คุณยังพอเห็นความเคลื่อนไหว หรือโอกาศในการฟื้นฟูความหลากหลายของข้าวอยู่บ้างไหม
ผมว่าข้อดีหนึ่งของวงการอาหารคือ มันไม่มีใครแช่แข็งไว้ทำให้หยุดนิ่งได้ ผมคิดว่าหากความรู้เกี่ยวกับเรื่องการครัวของไทยเปิดกว้างมากขึ้น หรือผสมผสานต่อยอดเข้ากับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่อาจจะอยู่คนละซีกโลกกัน เรื่องพันธุ์ข้าวไทยย่อมหลากหลายมากขึ้นแน่นอน อย่าง ทำไมเราถึงจะทำข้าวหุงแกงเขียวหวาน ราวกับการทำข้าวหมกของมุสลิม หรือว่าจะเปิดกว้างทดลองนำวัตถุดิบใหม่ อย่างขนมจีนลองเปลี่ยนเป็นข้าวมะลิแดงที่หุ่งนิ่มๆ ว่า มันอาจเข้ากันก็เป็นได้ เพียงแค่อย่าปล่อยให้เพดานความคิดทางตำราอาหารนั้นจองจำเราไว้
หรืออีกหนึ่งความตื่นตัวของข้าวไทยก็คือ วงการนักขนมปังจากแป้งข้าวพื้นเมืองต่างๆ ที่มีนักอบขนมชาวไทยหันมาทำกันมากขึ้น ซึ่งมองกลับไปในอดีตช่วงเริ่มต้น แป้งข้าวเจ้าไทยไม่ใช่คู่ต่อสู้กับแป้งสาลีเลย เพราะมันมีความกระด้างมาก แต่ไม่น่าเชื่อว่าภายในปีสองปีที่ผ่านมา มีขนมปังจากแป้งข้าวไทยรสชาติและเนื้อสัมผัสดีจำนวนมาก ไม่แน่ว่าข้าวพื้นเมือง มันอาจจะกลับมาได้รับนิยมในรูปแบบของแป้งข้าวเจ้าก็ได้
และสุดท้าย กระแสการกินเพื่อสุขภาพเริ่มกลับมาพูดถึงกันมาก เพราะปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ที่คนทั้งโลกเผชิญนั้น ส่วนหนึ่งจากการบริโภคเชิงเดี่ยว หรือการกินสิ่งใดซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน อย่างในปัจจุบัน ก็มีกลุ่มชาวนารุ่นใหม่ ที่หันมาพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีแร่ธาตุเฉพาะ หรือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งตอบโจทย์กับการรักษาอาการของโรคสมัยใหม่ได้ เมื่อผู้คนใส่ใจการกินเพื่อเยียวยารักษาอาการมากขึ้น ก็น่าจะเปิดโอกาสให้รู้จักถึงข้าวพันธุ์อื่นมากขึ้นเช่นกัน
One Response