ปลูก ‘ตามใจคน’ มากกว่า ‘ตามใจนา’

ว่าด้วยปัญหาข้าวไทย ทำไมต้องไปไกลกว่าแค่หอมมะลิ กับอุบล อยู่หว้า

     “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” มักเป็นคำกล่าวให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินขวานทอง โดยมีข้าวเป็นพืชสำคัญของประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจการส่งออก ที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับต้นๆ ของโลก (แม้ว่าตัวเลขเวียดนามจะแซงเราไปแล้วก็ตาม) ร่วมทั้งในแง่ทางนิเวศวิทยา ข้าวไทยมีความหลากหลายทางพันธุ์กรรมมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ เป็น ‘ข้าวพื้นเมือง’ ที่มีลักษณะการปลูกที่เหมาะกับนิเวศน์แต่ละท้องถิ่น เช่น ข้าวไร่ ที่เหมะกับปลูกพื้นที่ลาดชันทางภาคเหนือ ข้าวนาสวนน้ำฝน ที่ปลูกตามฤดูกาลอาศัยน้ำฝนในภูมิภาคอีสาน เป็นต้น

     แต่จากรายงานสถิติการปลูกข้าวของไทยในปี พ.ศ. 2565 โดยกรมเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าข้าวพันธุ์หอมมะลิเป็นพันธุ์ที่ถูกปลูกมากเป็นอันดับหนึ่งของไทย โดยกว่า 45% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิทั้งหมด หรือแม้กระทั่งข้าวสารบรรจุถุงตามท้องตลาด ที่ไม่ว่ามองไปทางใดก็ต่างละลานตาเต็มไปด้วย ‘ข้าวขาวหอมมะลิ’ บนชั้นวาง

     ดังนั้น “ในน้ำมีปลา ในนามีแต่หอมมะลิ” คงเป็นประโยคใหม่ที่เหมาะกับการอธิบายสภาพความเป็นจริงของข้าวไทยในปัจจุบัน ที่ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวถดถอยจากหลักหมื่นเหลือเพียงหลักสิบ และอาจนำไปสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ด้วยสายพันธุกรรมที่แคบลงไปยิ่งทุกวัน

      เราจึงชวนอุบล อยู่หว้า ชาวนาอินทรีย์จากทุ่งกุลาฯ จ.ยโสธร และเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก ภาคอีสาน ผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมของเกษตรกร ภายใต้ระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ ที่เอารัดเอาเปรียบผู้ปลูก พูดคุยถึงสถาณการณ์ข้าวไทย ที่เผชิญกับปัญหาตั้งแต่ต้นนาจนถึงปลายถุงข้าวสาร เปิดเผยโฉมหน้าตัวละครเบื้องหลัง ที่ทำให้ข้าวไทยเหลือปลูกกันในนาเพียงไม่กี่พันธุ์ และร่วมค้นหาทางออกวิกฤติพันธุกรรมข้าวไทย จะเดินต่อไปอย่างไรดี

จากรวงข้าวในท้องนา จนมาเป็นข้าวบรรจุถุง ช่วยเล่าเส้นทางการเดินทางของข้าวว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ในพื้นที่ที่ผมอาศัยอยู่ อย่างทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ยโสธร ชาวนาส่วนใหญ่เน้นปลูกข้าวหอมมะลิกันเป็นหลัก โดยเริ่มทำนาในช่วงหลังหลังสงกรานต์ จนถึงพฤษภาคม เมื่อถึงปลายเดือนตุลาคม ที่ระยะแสงแดดช่วงกลางวันสั้นลง ก็จะถึงคราวข้าวหอมมะลิจะออกรวง แล้วจ้างรถเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน 

ทุกวันนี้โครงสร้างการตลาดข้าวเปลี่ยนแปลงจากอดีตค่อนข้างมาก จากผลจากนโยบายจํานําข้าวตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่โรงสีใหญ่ในเขตภาคกลางเติบโตมากขึ้น จนเริ่มขยายฐานเข้ามารุกลงทุนในภาคอีสาน และ
รับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากทั้งชาวนาโดยตรง จนกลายเป็นโครงสร้างเครือข่ายของกิจการใหญ่ ที่สามารถกว้านซื้อข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมากในราคาถูก และข้าวเปลือกเหล่านี้ก็จะไปสู่ลานตาก โรงอบ และโกดังเก็บข้าวของกิจการใหญ่เพื่อรอบรรจุถุงนำมาขายต่อไป 

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

คุณเคยกล่าวถึงระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contact Farming) ที่เอื้อต่อการผูกขาดของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ คือปัญหาใหญ่ของการเกษตรกรรมไทย คุณมองว่าชาวนาไทยก็ประสบปัญหาในวงจรดังกล่าวด้วยเช่นกันหรือไม่

สำหรับข้าวอาจจะยังไม่เป็นหนักถึงขนาดนั้น ชาวนายังพอมีอิสระอยู่พอสมควร เพราะชาวนายังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้เอง แตกต่างจากเกษตรพันธะสัญญาที่ต้องมสัญญาผูกมัดตั้งแตเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกตั้งแต่ต้น

แต่ว่าปัญหาวงการข้าวไทย มันคือเรื่องโครงสร้างการการทํานา ที่โรงสีกับรถเกี่ยวข้าวเป็นเครือข่าย (Network) เดียวกัน โดยเฉพาะในสังคมชาวนาสูงอายุ ที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ บ่อยครั้งมักจะหันไปพึ่งพารถเกี่ยวข้าวเอกชน ที่บรรทุกข้าว แล้ววิ่งไปยังโรงสีทันที เพราะฉะนั้นเมื่อทั้งรถเกี่ยวข้าวและโรงสีเป็นพรรคพวกกัน ก็มีอำนาจควบคุมและกำหนดราคาได้ถูกลงและจำนวนได้มากขึ้น

สถานการณ์พันธุ์ข้าวของประเทศไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ในอีสาน ปลูกข้าวนาปี (ข้าวปลูกได้ปีละครั้ง) พันธุ์หอมมะลิแทบทั้งสิ้น และอาจจะปลูกข้าวเหนียวอยู่บ้าง แต่ก็จำนวนเล็กน้อยมากหารเทียบกับหอมมะลิ  จนกล่าวได้ว่าไม่มีพันธุ์ใดๆ ที่จะมาเบียดสู้กับข้าวหอมมะลิได้เลย นอกเสียจากพื้นที่ที่ปลูกแบบนาปรัง (ปลูกได้ทั้งปี) ก็จะปลูกข้าวพันธุ์กข. ตามที่ต้องการของตลาด แต่แตกต่างที่ข้าวนาปรังมักจะมีเน็ตเวิร์กของการรับซื้อเรียบร้อยแล้ว ว่าโรงสีจะซื้อพันธุ์อะไร ข้าวข้าวนาปรังจะมีจะมีรายชื่ออยู่ว่า ผู้รับซื้อในท้องถิ่นซื้อพันธุ์อะไร ก็ปลูกไปตามนั้น

ชาวนาไทยเน้นปลูกแต่ข้าวหอมมะลิ ในขณะที่แต่ละพื้นที่ต่างมีพันธ์ุข้าวที่หลากหลายเป็นของตัวเอง คุณคิดเพราะเหตุใดข้าวหอมมะลิจึงโดดเด่นท่ามกลางข้าวสายพันธุ์อื่นๆ

หากมองพัฒนาการของสายพันธุ์ข้าวไทย ในจุดเริ่มต้นสำคัญเกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป แล้วพบว่าข้าวไทยในต่างประเทศมีราคาต่ำมาก โดยเหตุที่ข้าวไทยราคาต่ำ เนื่องจากในยุคนั้นชาวนาไทยแยกข้าวเหนียวกับข้าวเจ้า ทั้งๆ ที่ข้าวเจ้าก็มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แต่เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จไม่ได้คัดแยก  ข้าวจึงมีลักษณะปะปนกันทั้งเมล็ดสั้นและยาวอยู่ในกระสอบเดียวกัน ส่งผลให้ข้าวไทยยุคนั้นถูกตีตราว่าเป็น ‘ข้าวปน’ ซึ่งมีราคาที่ถูกมา

ต่อมาพระยาเกษตรตราธิการ ผู้ก่อตั้งตั้งศูนย์วิจัยข้าวแห่งแรกที่แถวแถวรังสิต จึงเริ่มจะออกประกาศแนะนําให้ความรู้กับชาวนาเรื่องสายพันธุ์ข้าว เพื่อการคัดแยกพันธุ์การปลูกไม่ให้ข้าวปะปัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคแรกที่มีการเริ่มสนใจองค์ความรู้เรื่องสายพันธุ์ข้าวในประเทศไทย 

แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เบ็ดเสร็จของสายพันธุ์ข้าวไทยที่มียังคงมีผลมาถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นในยุคหลังจากการก่อตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีพ.ศ.2511 ที่ต่อมาขยับขยายกลายเป็นเกษตรตําบล ครบทุกตําบลขึ้นทั่วประเทศ พร้อมกับนโยบายการนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่รัฐต้องการให้ชาวนาปลูก เป็นการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวอย่างเห็นผลมากที่สุด

พอการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่เป็นไปตามความต้องการของรัฐได้ไหลเข้าสู่วัฒนธรรมของชาวนา จนชาวบ้านเองก็เริ่มยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงอย่าง การเอาข้าวพันธุ์เดิมของตัวเองมาเปลี่ยนข้าวหอมมะลิจากทางการ เนื่องด้วยข้าวหอมมะลิเป็นข้าวเมล็ดยาว เป็นไปตามความต้องการของตลาด  ต่างจากข้าวพื้นบ้านที่มักมีลักษณะเมล็ดป้อมสั้น เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าว จนทำให้สายพันธุ์ข้าวหลงเหลือไม่กี่สายพันธุ์ จึงมากจากนโยบายการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวของภาครัฐ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดข้าว ซึ่งต้องการข้าวเมล็ดยาวเป็นหลัก 

แล้วในอดีตชาวนาปลูกข้าวหลากหลายแค่ไหนกัน

แต่เดิมในอดีตชาวบ้านหนึ่งครอบครัวปลูกข้าวอยู่ประมาณ 5 สายพันธุ์ นั้นหมายความว่าในหนึ่งหมู่บ้านอาจมีข้าวมากถึง 20 สายพันธุ์ด้วยกัน

เหตุผลข้อแรกที่เป็นปัจจัยในการเลือกพันธุ์ที่ปลูกคือ “มันถือกับนา” หรือก็คือมันข้าวสายพันธุ์นั้นเหมาะสมกับระบบนิเวศในพื้นที่ปลูก เพราะฉะนั้นในหนึ่งครอบครัวที่ต้องปลูกถึง 5 สายพันธุ์ เนื่องจากว่าในหนึ่งครอบครัวก็มีไร่นาหลากหลายแบบ อาจจะทั้งที่ราบลุ่ม หนอง สันดอน ฯลฯ ก็ต้องเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เติบโตดีกับไร่นั้นๆ

เหตุผลต่อมาคือ ด้านวัฒนธรรม ปลูกข้าวตามแต่ละวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้ อย่างข้าวเหนียวดําไว้ทําขนม  ข้าวขี้ตมใหญ่ไว้หมักเหล้าสาโท หรือรสนิยมการบริโภคของแต่ละครอบครัวด้วย อย่างคนเขมรที่จ.สุรินทร์ พวกเขานิยมกินข้าวเม็ดสั้น รสชาติออกมันๆ เป็นข้าวแข็งที่ซับน้ําแกง หากไปลงพื้นที่จริง ก็ยังคงเห็นอาจเห็นกันอยู่ เนื่องจากคนสูงอายุ ก็ยังมีรสนิยมในการกินข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้อยู่

 

นอกจากนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวของภาครัฐแล้ว อิทธิพลจากต่างประเทศ อย่างการปฏิวัติเขียว ได้ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ข้าวในประเทศไทยบ้างไหม

การปฏิวัติเขียวส่งผลต่อข้าวไทยอย่างมหาศาล ทั้งผลกระทบในทางตรงอย่าง การปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง โดยกรมวิชาการเกษตรของไทยร่วมมือกับ สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) พัฒนาจนได้มาเป็นพันธุ์ กข. (ย่อมาจากกรมการข้าว) เป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี ลำต้นเตี้ย และแตกกอได้ดี ตรงตามอุดมคติตามแนวทางปฏิวัติเขียว แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาข้าว กข. ในช่วงแรกก็กลับมีเนื้อข้าวที่แข็งเกินไปที่จะตอบสนองการกินของคนไทยได้

ในผลกระทบในทางอ้อม ที่เกิดจากมูลนิธิล็อกกี้ฟิลเลอร์ (Rockyfeller Foundation) ได้ให้ทุนอาจารย์คณะเกษตรไปศึกษาต่อที่ประเทศสำหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้นักวิชาการเหล่านั้นสมาทานแนวทางการปฏิวัติเขียวตามโลกตะวันตกอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นแนวทางสำนักคิดหลักในการสอนในภาคการเกษตรของมหาวิทยาลัยไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติเขียว จึงเป็นการปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชครั้งใหญ่ของโลก นำมาสู่การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่เป็นการปลูกบนพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนเน้นทำกำไรและให้มีประสิทธิภาพผลผลิตสูงสุด โดยแทบจะละทิ้งการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่เน้นการปลูกพืชให้มีความหลากหลายเหมาะต่อระบบนิเวศ หรือเพื่อให้เพียงพอต่อการหยั่งชีพ

นอกจากความหลากหลายของพันธุ์ข้าวน้อยลงแล้ว ปฏิวัติเขียวส่งผลกระทบในแง่มุมอื่นๆ อีกบ้างไหม

นอกจากความถดถอยของสายพันธุ์ข้าว การปฎิวัติเขียวยังได้ก่อความเสียหายกับระบบนิเวศ ดินเสื่อมน้ำเสียจากการใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อมุ่งหมายทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ในประสบการณ์ที่ผมพบเจอกว่าชาวนาจะเปลี่ยนมาทําการเกษตรแบบอินทรีย์ ก็เมื่อในวันที่เห็นผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมีต่อเนื่องมานานหลายปี จนมันเสื่อมยากมาที่จะปรับปรุงให้มันกลับมาดีเหมือนเดิม

มากไปกว่านั้น ชาวนาที่ทำนาตามแนวทางปฏิวัติเขียว  กล่าวได้ว่ายิ่งทำนาก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากชาวนาขาดอํานาจต่อรองในการควบปัจจัยการผลิตอย่าง ปุ๋ยเคมี สารเคมีที่ผลิตโดยบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่อขาดทุนสะสมกันหลายปี ก็ตามมาด้วยการสูญเสียที่ดินจากการค้ำประกันหนี้ในการทำนาเหล่านั้น

แม้ว่าเป้าหมายของการปฏิวัติเขียว คือการผลิตอาหารให้เพียงพอหลังช่วงหลังสงครามโลกก็ตาม แต่มันก็นำมาซึ่งการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบงําตลาดปัจจัยการผลิต และตลาดของผลผลิตด้วยใน สายธารตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำการเกษตรถูกควบคุมโดยเจ้าของแหล่งเงินทุน ในรูปแบบการให้กู้กับเกษตรกร ถึงแม้ข้าวอาจจะยังไม่เกิดปัญหาหนักขนาดนั้น เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ปัญหามันก็เริ่มจะพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ

คุณคิดว่าทุกวันนี้รัฐไทยเองใส่ใจเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหรือการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวน้อยไปหรือเปล่าครับ ในฐานะที่คุณทำงานเชิงพื้นคลุกคลีอยู่กับปัญหา

ผมคิดว่าเรื่องข้าวไทย มันมีจุดอ่อนหลายประการ โดยที่เห็นชัดเจนก็คือเรื่องงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ในขณะที่เวียดนามมีงบหลักพันล้าน แต่ในไทยมันอยู่เพียงหลักร้อยล้านเท่านั้นเอง มันจึงไม่แปลกที่เราจะแพ้ เพราะว่ารัฐบาลลงทุนและให้ความใส่ใจต่างกันมาก

มากไปกว่านั้น ผมมองว่าวัฒนธรรมการทำงานงานวิจัยของภาครัฐไทย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยากต่อการสู้กับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมักอยู่แต่ สถานีวิจัยภาคครัฐ โดยฝ่ายนักวิชาการฝ่ายกรมการข้าว หรือมหาวิทยาลัยทำอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่จริงแล้ว มันควรจะต้องทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ในความเห็นผมโจทย์วิจัยควรถูกพัฒนาขึ้นพร้อมกับสามฝ่ายด้วยซ้ำ ว่าชาวนามีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ผู้ส่งออกประสบความยากลำบากอย่างไรในตลาดข้าวต่างประเทศ หรือโรงสีต้องการข้าวคุณสมบัติเป็นอย่างไร ไม่ใช่แยกกันทำทีละฝ่ายแบบในปัจจุบัน


หากมองในภาพกว้าง ผมคิดว่าต้นตอของปัญหานโยบายข้าวที่ผ่านมาถึงทุกวันนี้ คือโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายข้าวและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่เต็มไปด้วยหน่วยข้าราชการเต็มไปหมด  แต่กลับมีสัดส่วนชาวนาผู้ปลูกจริงอยู่น้อยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้กลไกนโยบายต่างๆ ที่ออกมามันจึงอาจไม่ได้สะท้อนความต้องการของชาวนาผู้ปลูกได้

คุณคิดว่าการเลือกปลูกข้าวตามใจคนหรือตามท้องตลาดนิยม มากกว่าจะปลูกให้เหมาะสมกับระบบนิเวศพื้นที่นา มันมีผลกระทบรุนแรงมากแค่ไหน

ผมกล้าพูดได้เลยว่า ในแง่นิเวศเกษตรของบ้านเรา มันมีความอ่อนไหวและความเปราะบางสูงมาก  เพราะพื้นที่ปลูกข้าว 80% เต็มไปด้วยข้าวพันธุ์หอมมะลิ หรือเป็นข้าวสายพันธุ์ลูกของหอมมะลิอีกทีหนึ่งเท่านั้น

เนื่องด้วยข้าวตระกูลหอมมะลิ มีจุดอ่อนก็คือความอ่อนแอต่อเชื้อรา และไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดด เพราะฉะนั้นหากเกิดวิกฤติการณ์ระบาดของโรคเชื้อรา มันจะเปรียบเหมือนดั่งไฟลามทุ่งเสียหายเป็นวงกว้างขนานใหญ่ การปลูกพืชอยู่สายพันธุ์เดิมๆ สายพันธุ์เดียวมันมีความเสี่ยงในแง่นิเวศวิทยาการเกษตรมากเกินไป และอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศเลยเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น มันก็เป็นความเปราะบางในทางเศรษฐศาสตร์ ความยืดหยุ่นในทางรายได้ด้วย เพราะการปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ มันก็สามารถนำไปสู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่าข้าว ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปข้าวในรูปแบบแป้งข้าวต่างๆ การค้นหาศักยภาพข้าวพันธุ์อื่นๆ มันไม่ได้ถูกทำไม่เกิดขึ้น ชาวนาก็ยังคงอิงอาศัยอยู่กับพันธุ์ข้าวไม่กี่สายพันธุ์

ดูเหมือนว่าในปัจจุบันผู้คนจะกลับมาเริ่มให้ความสนใจเรื่องปัญหาความหลากหลายทางอาหาร คุณคิดว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะเริ่มกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งได้บ้างไหม

ผมว่ามันดีขึ้นจากแต่ก่อนมาก เรื่องข้าวพื้นเมืองเริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหนึ่ง จาทั้งมูลนิธิเกษตรยั่งยืนที่ผลักดันเรื่องนี้มานาน หรือแม้กระทั่งสื่อรุ่นใหม่อย่าง The Cloud ที่จัดงาน Thailand Rice Fest 2023 เรื่องข้าวพื้นเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่ๆ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

 

หรือในความตื่นของมหาวิทยาลัยไทยอย่าง มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรก็ได้จัดงานข้าวไร่ ซึ่งเป็นข้าวที่มีกระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำ จนโรงแรมขนาดใหญ่ภูเก็ตติดต่อขอจองซื้อจนหมด เนื่องด้วยอิทธิพลแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่แทบทุกภาคธุรกิจให้ความสำคัญและสนใจ เกี่ยวกับข้าวที่คาร์บอนต่ำ อย่าง ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่เป็นข้าวไร่ ปลูกบนที่ราดชัน ไม่ต้องมีน้ำขังเหมือนหอมมะลิ มันไม่มีการหมักในน้ำจนเกิดเป็นมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกทำลายโลก ทำให้ข้าวเหล่านี้ดีต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ดังนั้นผมมองว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวมากขึ้น ค่อยเริ่มเปิดรับและรับรู้ถึงการมีอยู่ของข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากมายในสังคมไทย มันจะช่วยให้ข้าวพื้นบ้านมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น ชาวนาก็ย่อมจะค่อยๆ กลับมาปลูกมากขึ้นอีกครั้ง หากพวกเขามีตลาดให้ขายข้าวนอกกระแส

ในวันที่ไทยเสียแชมป์ทั้งในแง่จำนวนและคุณภาพให้กับคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน คุณมองว่าเส้นทางต่อไปของข้าวไทยควรดำเนินต่อไปอย่างไรดี

ในความเห็นผมก็คือ เราไม่จำเป็นต้องกังวลในการสูญเสียแชมป์ตัวเลขปริมาณการส่งออก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ข้าวไทยควรจะไปแข่งขันด้วยตั้งแต่ต้น แต่ว่าสิ่งที่ควรแข่งขันก็คือผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงกับชาวนา ซึ่งขณะนี้หากพิจารณาผลิตภาพต่อไร่นาของประเทศไทยยังคงต่ำสุดในประเทศภูมิภาคอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงการขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการทำการเกษตร เพราะฉะนั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าว และเทคโนโลยีการปลูกจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างมาก

รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสินค้าจากข้าว ที่ไม่ใช่เพียงแต่สินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน แต่ต้องวิจัยและต่อยอดข้าวอย่าง แผ่นห้ามเลือดในการผ่าตัด หรือแคปซูปยาจากแป้งข้าว ที่มีนักวิจัยไทยสามารถคิดค้นออกมาได้ อันนี้เป็นโจทย์ที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้สินค้าข้าวของไทยยกระดับไปสู่สินค้านวัตกรรม ซึ่งมันต้องการการสนับสนุนทั้งเม็ดเงินและทรัพยากรองค์ความรู้จากภาครัฐด้วย

สุดท้าย ก็คือการค้นหาศักยภาพของข้าวไทยที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่ง อ.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ข้าวพื้นเมืองต่างๆ นั้นเปรียบเสมือนกับเพชรที่ยังไม่ถูกเจียระไน มันจะมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน แต่ว่าจำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าและทดลองที่จริงจังมากกว่านี้

เชิงอรรถ

ข้าวนาปี (In-season rice) คือการทำนาในช่วงฤดูฝน มักเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยระบบการปลูกดังกล่าวเป็นที่นิยมในภูมิภาคอีสาน เนื่องจากว่าไม่ต้องพึ่งพาน้ำจากชลประทาน อาศัยเพียงฝนที่ตกและกักเก็บไว้ตามฤดูกาล โดยข้าวที่ปลูกจะเป็น ‘ข้าวไวต่อช่วงแสง’ 
ข้าวนาปรัง (Off-season rice) คือการทำนานอกฤดูกาลปกติ โดยพื้นที่นิยมปลูกมักจะอยู่ในบริเวณภาคกลาง ที่มีการชลประทานที่ดี โดยข้าวที่ปลูกจะเป็น ‘ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง’ ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี
ข้าวไวต่อช่วงแสง (Photosensitive rice) เป็นข้าวพันธุ์ที่จะตั้งท้องและออกดอกเฉพาะในช่วงเดือนที่กลางวันมีระยะสั่นกว่ากลางคืนอย่าง ประเทศไทยอยู่ในช่วงเดือนคือปลายกันยายน-ตุลาคม ข้าวพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงที่คนไทยนิยมปลูก เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือข้าวหอมมะลิที่เป็นพันธุ์ยอดนิยมของคนไทย
ข้าวพันธุ์ กข. ย่อมาจาก กรมการข้าว เป็นสายพันธุ์ข้าวที่ถูกพัฒนาและคิดค้นโดยกองวิจัยและพัฒนาพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวิธีสังเกตว่าพันธุ์ที่ลงท้ายด้วยเลขคี่เป็น ‘ข้าวเจ้า’ และเลขคู่เป็น ‘ข้าวเหนียว’ 

ข้อมูลจาก : ศาลานา

One Response